ผู้คนในยุคปัจจุบันใส่ใจและหันมาดูแลสุขภาพจิตกันมากขึ้น จึงทำให้การมาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีทัศนคติไม่ดีต่อการมาพบจิตแพทย์ บางคนอายที่คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคทางจิตเวช หรืออายเมื่อตนเองต้องเป็นผู้มาพบจิตแพทย์ ท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด แต่เขาเหล่านั้นอาจมาขอคำแนะนำ หรือปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่ทำให้ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ หรือปัญหานั้นๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การเรียนรู้และการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมาพบจิตแพทย์
เมื่อเราสังเกตเห็นว่าคนรอบข้างหรือตนเองเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ก็ควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการและรักษา โดยขอแบ่งสัญญานเตือนออกเป็น 3 ด้าน เพื่อให้เข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างง่ายๆ ดังนี้
- สัญญาณเตือนด้านอารมณ์
- มีความกังวลทุกข์ใจ ซึมเศร้า ตลอดเวลา ไม่หายไป
- หวาดระแวงในทุกๆ เรื่อง มีอารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ
- รู้สึกเครียดตลอดเวลา
- มีความกระวนกระวายใจ และอยู่ไม่นิ่ง
- สัญญาณเตือนด้านความคิด มักพบว่าเนื้อหาความคิด ผิดไปจากปกติ
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ และหลงลืมมากกว่าผิดปกติ
- การตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหาไม่ได้ ในทุกๆ เรื่องแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
- ได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพที่ผู้อื่นไม่เห็น
- มีความคิดทำร้ายตนเอง และความคิดว่ามีคนมาปองร้าย
- มีการใช้คำพูดหรือคิด หมกมุ่นในเรื่องอดีต มีความคิดที่เร็ว คิดหลายเรื่อง คิดฟุ้งซ่าน
- สัญญาณเตือนด้านพฤติกรรม หรือร่างกาย
- ไม่สนใจดูแลตนเองเหมือนเมื่อก่อน ปล่อยตัวไม่สนใจสิ่งแวดล้อม แยกตัวไม่พบปะผู้คนเหมือนเคย
- นอนไม่หลับหรืออาจนอนมากเกินปกติ
- เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินปกติ
- ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย ใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด
- ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มาก
ที่มา. วินิตรา แก้วสง่า พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์